ต้อยทูเดย์ออนไลน์ Toytodayonline

วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

โครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายสุรศักดิ์มนตรี “การสร้างคน เพื่อกลับไปสร้างชุมชน”

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับ กองทัพภาคที่ 3 จัดตั้งโครงการทหารพันธุ์ดี ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ให้ข้าราชการและทหารกองประจำการที่มีความสนใจด้านการเกษตร ได้มีโอกาสเรียนรู้ขั้นตอนและกระบวนการปลูกผักอินทรีย์ที่ปลอดภัย ซึ่งหน่วยทหารในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้ดำเนินการทำเกษตรอินทรีย์, การปศุสัตว์ และการประมง เพื่อเป็นแหล่งความมั่นคงทางด้านอาหารแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ อีกทั้งยังมีพระราชประสงค์ให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสะสมสำรองไว้ เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรทั่วไปและราษฎรในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ นับเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า โดยในปี 2561 “โครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายสุรศักดิ์มนตรี” ได้พัฒนาต่อยอดจากโครงการ เดินตามรอยเท้าพ่อ มณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี มีวัตถุประสงค์ คือ “การสร้างคน ให้กลับไปสร้างชุมชน” จัดกิจกรรมในพื้นที่โครงการให้เป็นสถานที่ฝึก และเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง ผ่านกระบวนการ Learning by Doing (การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง) ให้แก่ทหารกองประจำการที่มีความสนใจ และมีพื้นฐานในการทำอาชีพเกษตรกรรม และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าศึกษาดูงาน สามารถนำกลับไปทำที่บ้านตนเองแล้วกระจายสู่ชุมชน “โครงการทหารพันธุ์ดี สุรศักดิ์มนตรี” ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกของค่ายสุรศักดิ์มนตรี อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 61 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา ซึ่งมีหน่วยทหารร่วมในโครงการ ทั้งสิ้น 7 หน่วย รับผิดชอบกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนี้ 1. กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 17 ดำเนินการทำการเกษตรผสมผสาน  2. ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 32 ปลูกพืชตามแนวคิด ผักกับลาบและผักแกงแคดูแลรัก รวมทั้งการเพาะเลี้ยงแพะพันธุ์พระราชทาน แบล็กเบงกอล  3. โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี ดำเนินการอนุรักษ์สมุนไพรไทย และแปลงผักชุมชน 4. กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 3 ดำเนินการเพาะเห็ดฟาง และการอนุรักษ์กระบือไทย  5. กองร้อยทหารช่างที่ 4 กองพันทหารช่างที่ 4 กองพลทหารราบที่ 4 ดำเนินการอัดก้อนเห็ด       เพาะเห็ดขอนดำ, เห็ดนางรมดำ, เห็ดหูหนู และการปลูกผักต้นทุนน้อย รายได้สูง 6. กองร้อยมณฑลทหารบกที่ 32 ดำเนินการจัดทำแปลงเกษตรปลอดภัย 7. หมวดดุริยางค์ มณฑลทหารบกที่ 32 ดำเนินการขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยงกบนา จากการดำเนินการโครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายสุรศักดิ์มนตรี เพื่อพัฒนาทหารกองประจำการสู่การเป็นทหารพันธุ์ดี โดยโครงการมุ่งเป้าเพื่อสร้างผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ ผลลัพธ์หลัก : เป้าหมายหลัก ที่การดำเนินการภายในโครงการจะต้องสามารถตอบโจทย์ วัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ คือ “การสร้างคน เพื่อกลับไปสร้างชุมชน” โดยแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ 1. ทหารพันธุ์ดี (บุคคล) : เป็นทหารกองประจำการที่มีความรู้ ความสามารถในการทำเกษตรปลอดภัยภายในโครงการฯ และสามารถดำเนินการหลังปลดจากประจำการ ณ พื้นที่ตนเอง และขยายแนวคิดสู่ชุมชนต่อไป ในปัจจุบันมีทหารพันธุ์ดีของหน่วยที่ปลดฯ และดำเนินการอยู่จำนวน 14 คน ใน 9 อำเภอ ของจังหวัดลำปาง 2. ศูนย์ศึกษาดูงาน (แหล่งเรียนรู้) : พื้นที่การดำเนินการโครงการฯ สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรปลอดสารเคมี รองรับผู้ที่มีความสนใจเข้ามาเยี่ยมชม ศึกษาดูงานด้วยกระบวนการ learning by Doing ในปี 2564 มีผู้เข้าศึกษาดูงานจำนวน 2,082 คน โดยแบ่งเป็น นักเรียน จำนวน 1,526 คน ประชาชนทั่วไป 70 คน และ หน่วยงานภายนอก จำนวน 490 คน ผลสัมฤทธิ์หลัก : ผลการเกิดขึ้น / ต่อยอดจากผลลัพธ์หลัก เป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้อง และยังคงสามารถตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของโครงการฯ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ1. ชุมชน (เครือข่าย) : ชุมชนได้เห็นการดำเนินการของทหารพันธุ์ดี ก่อให้เกิดความสนใจ และรวมกลุ่มที่จะดำเนินการตาม เป็นการกระจายองค์ความรู้การทำเกษตรปลอดสารเคมี และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในปัจจุบันมีเครือข่ายผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 42 ครัวเรือน โดยแบ่งเป็นกลุ่มเกษตรดอยฮาง จำนวน 30 ครัวเรือน และกลุ่มเครือข่ายบ้านม้า จำนวน 12 ครัวเรือน2. ผู้ศึกษาดูงาน : มีผู้สนใจเข้าศึกษาดูงานภายในโครงการฯเช่น นักเรียน , นักศึกษา , หน่วยงานภายนอก และประชาชนทั่วไป สามารถนำไปปรับใช้ภายในชีวิตประจำวันหรือต่อยอดจากการดำเนินการของตนเองโดยมีองค์ความรู้ที่ได้รับจากโครงการฯ เป็นส่วนเติมเต็ม ผลลัพธ์รอง (การจำหน่ายผลผลิตจากโครงการฯ) : เป็นผลจากการดำเนินการของโครงการฯ             ที่สามารถพยุงให้โครงการฯ ดำเนินการและเป็นเงินทุนหมุนเวียนต่อไป ได้อย่างยั่งยืน ผลสัมฤทธิ์รอง (ประชาชนชาวลำปาง) : เป็นผลที่เกิดจากการต่อยอดของผลลัพธ์รอง นอกจากโครงการฯ จะสามารถจำหน่ายผลผลิตแล้ว ยังทำให้พี่น้องประชาชนชาวลำปางได้บริโภคพืชผักปลอดสารเคมีในราคาที่ถูก ส่งผลให้พี่น้องประชาชนชาวลำปาง มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง โดยยอดจำหน่ายผลผลิต คิดเป็น 7,130 กิโลกกรัม คิดเป็นเงิน จำนวนทั้งสิ้น 256,159 บาท จากการดำเนินการของโครงการฯ ทำให้เกิดผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สามารถส่งต่อองค์ความรู้ในการดำเนินการด้านเกษตรปลอดภัยให้ประชาชนผ่าน “โครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายสุรศักดิ์มนตรี” ที่สามารถเป็นแบบอย่างในการดำเนินการได้สืบต่อไปคณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 325 พฤศจิกายน 2564

“โครงการร้อยใจรักษ์” ในพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ “

โครงการร้อยใจรักษ์” ดำเนินการโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครอบคลุมพื้นที่ 37,119 ไร่ 4 หมู่บ้าน และ 20 หย่อมบ้าน โดย 4 หมู่บ้านหลัก ได้แก่ บ้านห้วยส้าน บ้านเมืองงามเหนือ บ้านหัวเมืองงาม และบ้านเมืองงามใต้ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ประมาณ 1,067 ครัวเรือน 4,297 คน ซึ่งพื้นที่ตำบลท่าตอนเป็นพื้นที่เปราะบาง และมีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นที่รู้จักว่ามีปัญหาการค้าและลำเลียงยาเสพติดข้ามแดนอย่างรุนแรง เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย - เมียนมา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่นี้เคยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ทางภาคเหนือ และได้ถูกจับกุมดำเนินคดีไปแล้วในปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเล็งเห็นว่าควรนำการพัฒนาเข้ามา เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกในการดำรงชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่        เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องพึ่งพายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายอีกต่อไป จึงเกิดเป็น “โครงการร้อยใจรักษ์” ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เพื่อร้อยใจทุกคนเข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อความผาสุก มั่นคงและยั่งยืนของชุมชนและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ตามศาสตร์พระราชาและตำรา    แม่ฟ้าหลวง ด้วยการสร้างอาชีพทางเลือกที่สุจริตและหลากหลาย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ระยะสั้น และวางรากฐานสู่รายได้ที่มั่นคงในระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงในการกลับไปค้ายาเสพติดของคนในชุมชน ควบคู่ไปกับกิจกรรมส่งเสริมด้านสุขภาพ ลดจำนวนผู้เสพผู้ติดยาเสพติด พัฒนาด้านการศึกษา และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน กองพลทหารม้าที่ 1 (กองพันทหารม้าที่ 10 กรมทหารม้าที่ 2) ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่บ้านห้วยส้าน สนับสนุนโครงการร้อยใจรักษ์ ในการดำเนินการตาม 4 มาตรการ ดังนี้ มาตรการที่ 1 มาตรการพัฒนาทางเลือก คือการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในกระบวนการพัฒนา การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร กิจกรรมพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างทางเลือกและโอกาสในการประกอบอาชีพที่สุจริตควบคู่ไปกับการใช้หลักนิติธรรม (Rule of Law) โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โดยแบ่งโครงการ/กิจกรรม ออกเป็น ด้านการเกษตร ด้านส่งเสริมอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่ม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา และด้านสังคมและคุณภาพชีวิต มาตรการที่ 2 มาตรการป้องกันยาเสพติด เป็นการพัฒนารากฐานของสังคมคือเด็กและเยาวชน และพัฒนาในทุกช่วงวัย ให้สามารถอ่านออก เขียนได้ เข้าใจและตระหนักต่อปัญหายาเสพติด เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กับสังคม โดยพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เช่นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางเลือก มีเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสภาพปัญหาและความต้องการ มีกิจกรรมทางเลือกเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด มาตรการที่ 3 มาตรการบำบัดรักษายาเสพติด คือเตรียมความพน้อมของเจ้าหน้าที่ชุมชน ค้นหาคัดกรองผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในชุมชน พัฒนาเครื่องมือคัดกรองที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน มีกระบวนการบำบัดรักษาในพื้นที่ชุมชน ปรับทัศนคติและมีการกำกับติดตามอย่างต่อเนื่อง มาตรการที่ 4 มาตรการการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด คือการมีศูนย์ประสานงานพัฒนา  เพื่อความมั่นคงโครงการร้อยใจรักษ์ ปฏิบัติการด้านการข่าวเพื่อเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด      ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ได้ดำเนินการพัฒนาระบบน้ำอุปโภคบริโภคและระบบน้ำ เพื่อการเกษตร พัฒนาด้านการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนในพื้นที่ โดยได้วิจัยและทดลองทำการเกษตรประณีตร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเกษตรเพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณ ในด้านปศุสัตว์ได้ส่งเสริมพันธุ์สัตว์ที่มีคุณภาพให้กับชาวบ้านที่ต้องการเลี้ยงสัตว์ผ่านกองทุนปศุสัตว์ ให้บริการรักษาและติดตามสุขภาพสัตว์อย่างครบวงจร อีกทั้งสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้กับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ การส่งเสริมอาชีพในด้านหัตถกรรม ได้จัดอบรมการใช้จักรเย็บผ้าแก่กลุ่มแม่บ้านที่ทำหัตถกรรม เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อผลิตงานหัตถกรรม ในส่วนของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวนั้น ได้สร้างและดำเนินการตลาดชุมชนโครงการร้อยใจรักษ์ ให้เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านในพื้นที่ควบคู่กับการปรับภูมิทัศน์ นอกจากนี้โครงการฯได้จัดกิจกรรม “อาสาทำดี” ให้โอกาสผู้เสพยาเสพติดในพื้นที่โครงการฯ ได้รับการบำบัด ฟื้นฟู มีงานทำ มีศักดิ์ศรีและได้รับการยอมรับจากสังคมอีกครั้ง คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 325 พฤศจิกายน 2564

การรับสมัครบุคคลพลเรือน เพื่อสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ในส่วนของกองทัพบก ประจำปี 2565 (การสอบคัดเลือกแบบเฉพาะกลุ่ม) ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3

กองทัพบก โดย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เปิดรับสมัครบุคคลพลเรือนชายสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ในส่วนของกองทัพบก ประจำปีการศึกษา 2565 (การสอบคัดเลือกแบบเฉพาะกลุ่ม) เพื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเตรียมทหาร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าต่อไป โดยคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกแบบเฉพาะกลุ่ม ดังนี้.- 1. กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้ที่มีผลการศึกษาและลักษณะทหารที่ดีเยี่ยม ตามโควตาจังหวัดละ 1 คน รวมจำนวน 77 คน (76 จังหวัด และกรุงเทพมหานครฯ) ภายใต้เงื่อนไขประกอบด้วย 1.1 กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ประจำปีการศึกษา 2564 และมีเกรดเฉลี่ยในภาคการศึกษาที่ 1 ตั้งแต่ 3.50 ขึ้นไป 1.2 มีอายุระหว่าง 16 – 18 ปีบริบูรณ์ ในปีที่จะเข้ารับการศึกษาเป็นนักเรียนเตรียมทหาร โดยนับอายุตามกฎหมายว่าการรับราชการทหาร (เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549) 1.3 มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ไม่ต่ำกว่า 1 ปี (นับถึงวันที่ 30 มกราคม 2565) และศึกษาอยู่ในพื้นที่จังหวัดนั้น    2. กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พิเศษ 38 จังหวัด โดยกำหนดโควตาไม่เกินร้อยละ 10 ของยอดรับนักเรียนเตรียมทหาร ในส่วนของกองทัพบก ภายใต้เงื่อนไขประกอบด้วย 2.1 มีอายุระหว่าง 16 – 18 ปีบริบูรณ์ ในปีที่จะเข้ารับการศึกษาเป็นนักเรียนเตรียมทหาร โดยนับอายุตามกฎหมายว่าการรับราชการทหาร (เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549)       โดยเมื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศแล้ว ต้องสำเร็จการศึกษา              ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการหรือเทียบเท่า 2.2 มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ตำบลที่ระบุเป็นพิเศษ ไม่ต่ำกว่า 1 ปี (นับถึงวันที่ 30 มกราคม 2565) และศึกษาอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่เป็นพื้นที่พิเศษนั้นๆ สำหรับในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ มีพื้นที่ตำบลที่ระบุเป็นพิเศษ สำหรับกลุ่มที่ 2 อยู่จำนวนทั้งสิ้น 185 ตำบล ใน 15 จังหวัด รายละเอียดตามผนวกแนบท้ายเอกสารประชาสัมพันธ์ที่แจกจ่าย การรับสมัครบุคคลพลเรือน เพื่อสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ในส่วนของกองทัพบก ประจำปี 2565 ทั้ง 2 กลุ่ม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ได้ทางเว็บไซต์ www.crma.ac.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กองสถิติและทะเบียนประวัติโรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า หมายเลขโทรศัพท์ 0-3739-3132 และ 0-3739-3010 – 4 ต่อ 62130, 62733 ระหว่างเวลา 08.00 – 16.00 น. ทุกวันราชการ คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 325 พฤศจิกายน 2564

การปราบปรามการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (22 – 24 พฤศจิกายน 2564)

ตามที่รัฐบาล ได้มีนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานด้านความมั่นคง โดยบูรณาการหน่วยงานที่มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และสกัดกั้นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติ ประกอบกับที่รัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยมีข้อกำหนดตามกรอบพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่          26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้พิจารณาให้ระงับการใช้ช่องทางการเข้าออกประเทศในทุกพื้นที่ที่มีเขตติดต่อชายแดน เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 มาจนถึงปัจจุบัน นั้น ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการ กองทัพภาคที่ 3         ได้กำชับให้ทุกหน่วยที่มีพื้นที่ตามแนวชายแดน ได้เฝ้าระวังการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายของกลุ่มแรงงานต่างด้าว รวมไปถึงคนไทยที่ไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน และลักลอบกลับเข้ามาในประเทศไทย     เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างจริงจัง โดยมีผลการจับกุม, ผลการดำเนินคดี และการเร่งรัดการดำเนินคดีตามกฎหมาย โดย ศูนย์ปฏิบัติการ กองทัพภาคที่ 3, กองกำลังนเรศวร และกองกำลังผาเมือง ได้ร่วมกับทุกภาคส่วน ในห้วงวันที่ 22 – 24 พฤศจิกายน 2564 มีผลการจับกุมที่สำคัญ จำนวน 3 ครั้ง รายละเอียดดังนี้.- เหตุการณ์ที่ 1 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35  ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า มีคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจำนวนมากแอบซ่อนตัวอยู่ในป่าบนภูเขาท้ายหมู่บ้านขุนห้วยนกแล ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เพื่อรอคนนำพาไปยังพื้นที่ตอนในของประเทศไทย จึงจัดกำลังจาก กองร้อยทหารพรานที่ 3505 จำนวน 3 ชุดปฏิบัติการ ออกลาดตระเวนตามช่องทางที่คาดว่าขบวนการนำพาคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจะใช้เป็นช่องทางผ่าน จนกระทั่งเวลาประมาณ 01.00 น.ของวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เจ้าหน้าที่ได้พบบุคคลต้องสงสัยเป็นชายไทย (ผู้นำพา) มีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้านขุนห้วยนกแล ตำบลพระธาตุ ขับรถผ่านมาท่าทางมีพิรุธ จึงเรียกหยุดแล้วซักถามจนทราบว่า ชายคนดังกล่าวกำลังจะไปรับกลุ่มคนต่างด้าวที่รออยู่บนภูเขาเพื่อนำพาไปส่งที่ตลาดมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ไปเป็นแรงงานก่อสร้างหรือแรงงานในโรงงานเย็บผ้า ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ทำการค้นหากลุ่มคน   ต่างด้าว  จนกระทั่งเวลาประมาณ 05.00 น.ของวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ได้พบกลุ่มบุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 25 คน (เป็นผู้ชาย 18 คน และผู้หญิง 7 คน) กำลังรอคนนำพามารับอยู่ในป่าบนภูเขา ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น ตรวจสอบแล้ว ทุกคนไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงการเดินทางเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรโดยชอบด้วยกฎหมาย  เจ้าหน้าที่จึงส่งตัวตรวจคัดกรองเชื้อไวรัส Covid – 19 พร้อมทั้งส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป เหตุการณ์ที่ 2 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เวลาประมาณ 16.30 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารจาก กองร้อยทหารราบที่ 1421 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 จำนวน 1 ชุดปฏิบัติการ กำลังลาดตระเวนตรวจพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายอยู่ในเขตพื้นที่ บ้านวังตะเคียน ตำบล   ท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้พบกลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 31 คน (เป็นผู้ชาย 18 คน และผู้หญิง 13 คน) ลักลอบข้ามแดนตามช่องทางธรรมชาติจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามายังฝั่งประเทศไทย  ตรวจสอบแล้ว ทุกคนไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงการเดินทางเข้ามและอยู่ในราชอาณาจักรโดยชอบด้วยกฎหมาย  เจ้าหน้าที่จึงส่งตัวตรวจคัดกรองเชื้อไวรัส Covid – 19 พร้อมทั้งส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป เหตุการณ์ที่ 3 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เวลาประมาณ 05.00 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารจาก กองร้อยทหารม้าที่ 3 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 4 จำนวน 1 ชุดปฏิบัติการ กำลังลาดตระเวนตรวจพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายอยู่ในเขตพื้นที่ บ้านถ้ำ ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบกลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 45 คน (เป็นผู้ชาย 23 คน และผู้หญิง 22 คน) พร้อมผู้นำพาเป็นผู้ชายสัญชาติเมียนมา จำนวน 1 คน จากการสอบถามกลุ่มคนต่างด้าวดังกล่าวทราบว่า ทั้งหมดออกเดินทางมาจากเมืองต่วน ประเทศเมียนมา ลักลอบข้ามแดนตามช่องทางธรรมชาติเข้ามายังประเทศไทย ต้องการไปทำงานรับจ้างที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยได้จ่ายค่าเดินทางให้กับผู้นำพา รายละ 20,000 – 23,000 บาท ตรวจสอบแล้ว ทุกคนไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงการเดินทางเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรโดยชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงส่งตัวตรวจคัดกรองเชื้อไวรัส Covid – 19 พร้อมทั้งส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการนำพาแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หรือมีเบาะแสข้อมูลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย ขอความกรุณาได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในการปราบปรามและการสกัดกั้นอย่างเป็นรูปธรรมตามกฎหมาย อีกทั้งหากพี่น้องประชาชนมีความประสงค์จะส่งข้อมูลเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย ให้กับ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 สามารถส่งข้อมูลผ่านระบบ Applications Line ชื่อ “สายตรง   แม่ทัพภาคที่ 3” ID Line : ISOC3 เพื่อรับทราบข้อมูลและนำไปสู่การปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย       สร้างความมั่นคงให้สังคมไทยสืบไปคณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 325 พฤศจิกายน 2564

การปราบปรามและจับกุมยาบ้า 2,000,000 เม็ด ในพื้นที่แนวชายแดนภาคเหนือ (23 พฤศจิกายน 2564)

ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้มีนโยบายให้มีการบูรณาการงานด้านการข่าวเพื่อความมั่นคงของพลเรือน ตำรวจ ทหาร และทุกภาคส่วน ในการดำเนินการ สกัดกั้น ปราบปราม และจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดอย่างจริงจัง ตั้งแต่พื้นที่แนวชายแดน จนถึงพื้นที่ตอนในของประเทศ นั้น มีการจับกุมที่สำคัญ ดังนี้ เหตุการณ์ที่ 1 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เวลาประมาณ 04.00 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารจาก กองร้อยทหารม้าที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 5 กองกำลังผาเมือง กำลังลาดตระเวนตรวจพื้นที่          เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบขนยาเสพติดเข้าสู่พื้นที่ตอนในของประเทศไทย มาถึงบริเวณช่องทางธรรมชาติช่องทางผาขาวบน บ้านลิเซ ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย นั้น ได้ตรวจพบกลุ่มคนประมาณ 10 - 15 คน บางคนมีเป้แบกอยู่ที่หลังกำลังเดินตามกันมาใกล้ช่องทางดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงส่งสัญญาณให้หยุดเดิน เพื่อทำการตรวจค้น ปรากฏว่าเมื่อกลุ่มคนดังกล่าวเห็นว่าเป็นเจ้าหน้าที่ จึงทิ้งเป้ที่แบกไว้ พากันวิ่งหลบหนีพร้อมกับใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิด และขนาดยิงมาทางเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้ป้องกันตนเองนานประมาณ 15 นาที หลังจากการปะทะยุติลง ไม่มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต  เมื่อตรวจจุดเกิดเหตุปะทะกันนั้นพบ ผู้เสียชีวิต 6 ราย และพบกระสอบดัดแปลงใส่สายสะพายเป็นเป้ จำนวน 9 ใบ ภายในกระสอบบรรจุยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 (ยาบ้า) รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,800,000 เม็ด เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดยาบ้าของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เหตุการณ์ที่ 2 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ กองบังคับการควบคุมทหารพราน ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 3  ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า มีกลุ่มขบวนการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ จึงจัดกำลังจาก กองร้อยทหารพรานที่ 3201 และ 3206 จำนวน 2 ชุดปฏิบัติการ ออกลาดตระเวนตรวจตราในพื้นที่เป้าหมาย จนกระทั่งเวลาประมาณ 10.30 น.     ของวันเดียวกัน ขณะกำลังลาดตระเวนมาถึงบริเวณช่องทางธรรมชาติ ช่องทางบ้านป่ากุ๋ย ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย นั้น ได้พบผู้ชาย 3 คน มีเป้แบกอยู่ที่หลังกำลังเดินตามกันมาใกล้ช่องทางดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงส่งสัญญาณให้หยุดเดิน เพื่อทำการตรวจค้น ปรากฏว่าเมื่อกลุ่มคนดังกล่าวเห็นว่าเป็นเจ้าหน้าที่ จึงทิ้งเป้ที่แบกไว้แล้วพากันวิ่งหลบหนีไป เจ้าหน้าที่ได้ไล่ติดตามและสามารถจับกุมตัวได้ทั้งสามคน จากการตรวจจุดเกิดเหตุพบกระสอบดัดแปลงใส่สายสะพายเป็นเป้ จำนวน 3 ใบ ภายในกระสอบบรรจุ ยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 (ยาบ้า) รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 200,000 เม็ด เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดของกลางพร้อมนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือมีเบาะแสข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ขอความกรุณาได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในการปราบปรามและจับกุม อย่างเป็นรูปธรรมตามกฎหมาย อีกทั้งหากพี่น้องประชาชนมีความประสงค์จะส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยตรง ให้กับ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 สามารถส่งข้อมูลผ่านระบบ Applications Line ชื่อ “สายตรงแม่ทัพภาคที่ 3” ID Line : ISOC3 เพื่อรับทราบข้อมูลและนำไปสู่การปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย สร้างความมั่นคงให้สังคมไทยสืบไป คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 325 พฤศจิกายน 2564

การปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ ในพื้นที่จังหวัดตาก (23 พฤศจิกายน 2564)

ตามที่ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ได้มีนโยบายปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ โดยบูรณาการหน่วยงานที่มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ทำลาย หรือด้วยการกระทำใดๆ อันเป็นการทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สภาพป่า โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในทุกพื้นที่นั้น ได้ดำเนินการจับกุมและปราบปรามในพื้นที่ ดังนี้.- เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารจาก กองบังคับการควบคุม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 จำนวน 1 ชุดปฏิบัติการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ และหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ตาก 6 (ร่มเกล้า) เข้าตรวจสอบการบุกรุกแผ้วถางป่าเขตอุทยานแห่งชาติ ในพื้นที่บ้านห้วยไผ่ ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ผลการปฏิบัติการพบว่า มีการบุกรุกแผ้วถางป่า จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 9 ไร่เศษ จากการตรวจจุดเกิดเหตุและพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว ไม่พบตัวผู้กระทำผิด  เจ้าหน้าที่ จึงได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนติตามดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ ขอความกรุณาได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในการปราบปรามและจับกุม อย่างเป็นรูปธรรมตามกฎหมาย อีกทั้งหากพี่น้องประชาชนมีความประสงค์จะส่งข้อมูล การลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ โดยตรง ให้กับ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 สามารถส่งข้อมูลผ่านระบบ Applications Line ชื่อ “สายตรงแม่ทัพภาคที่ 3” ID Line : ISOC3 เพื่อรับทราบข้อมูลและนำไปสู่การปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย สร้างความมั่นคงให้สังคมไทยสืบไปคณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 325 พฤศจิกายน 2564

รางวัลชนะเลิศ นวัตกรรม COVID BOX โรงพยาบาลค่ายพิชัยดาบหัก ร่วมแก้ไขปัญหา การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งรัฐบาล โดย ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และกระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นมา นั้น โดยในส่วนของกองทัพบก ผู้บัญชาการทหารบกได้สั่งการให้ทุกหน่วยของกองทัพบก      ใช้ศักยภาพให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับมาตรการพิทักษ์พล และการช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในการนี้ โรงพยาบาลค่ายพิชัยดาบหัก มณฑลทหารบกที่ 35 ได้ทำการคิดค้นและพัฒนา ตู้ “COVID BOX” ตู้ตรวจเชื้อความดันบวก Swab Test Positive Pressure เพื่อใช้ในการเก็บสิ่งส่งตรวจสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย สนับสนุน ช่วยเหลือ ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยแผนกพยาธิวิทยาร่วมกับหมวดพลเสนารักษ์ โรงพยาบาลค่ายพิชัยดาบหัก   ที่ช่วยในการป้องกันไม่ให้นักเทคนิคการแพทย์ ผู้ทำการเก็บสิ่งส่งตรวจสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย โดยนำตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ได้ใช้แล้ว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อุตรดิตถ์          มาดัดแปลงให้มีช่องสำหรับสอดมือเพื่อใช้สำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย พร้อมทั้งมีการติดตั้งพัดลมสร้าง Positive Pressure เพื่อป้องกัน ไม่ให้ละอองฝอย (Aerosol) กระจายเข้าหาผู้ตรวจ ชนิดมีแผ่นกรอง HEPA-Filter และไฟส่องส่องสว่างภายในตู้ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนเป็นการลดการใช้ชุด PPE ที่มีจำนวนจำกัดและเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลค่ายพิชัยดาบหัก มณฑลทหารบกที่ 35 ได้รับรางวัล “ชนะเลิศ” ผลงานนวัตกรรม “COVID BOX” นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางการแพทย์ ในการประชุมวิชาการพระมงกุฎเกล้าครั้งที่ 49 ประจำปี 2564 ในหัวข้อเรื่อง ความปลอดภัยด้านการรักษาพยาบาล และการป้องกัน (Healthcare Security and Protection) โดยนวัตกรรม COVID BOX มีการใช้งานมาแล้วประมาณ 2 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งใช้ในการเก็บสิ่งส่งตรวจไปแล้วกว่า 10,235 ราย โดยสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว ได้สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ได้มีนโยบายและสั่งการให้หน่วยทหารในพื้นที่ภาคเหนือ ได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากร, ยุทโธปกรณ์ และอาคารสถานที่ของกองทัพภาคที่ 3 ทุกแห่ง ให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อได้รับการร้องขอ หรือประสานจากคณะกรรมการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัดอย่างเร่งด่วน เพื่อดูแลพี่น้องประชาชน ให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยร่วมกัน ทำให้สังคมไทยกลับมาเข้มแข็งและประเทศเดินหน้าต่อไปในอนาคต คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 325 พฤศจิกายน 2564

สจ.เขต​1ชุมแสง​ ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบวาตภัย ในพื้นที่อำเภอชุมแสง​

วันที่​ 18 พฤษภาคม​ 2567 เวลา 10.00​ น.นาย ไพฑูรย์  อินทร์นาง​ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์​ เขต​1​อำเภอชุมแสง​ ลง...